ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2556 |
กิจการวิทยุสมัครเล่น หมายถึง ?8 กันยายน 2013 เวลา 8:36 น.
กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นการสื่อสารโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่นับได้ว่า มีประชาชนทั่วโลกจำนวนมากให้ความสนใจศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมในแง่มุมของการเป็นงานอดิเรกมาเป็นเวลาช้านาน โดยในหลายประเทศต่างยอมรับและเห็นว่า กิจกรรมของพนักงานวิทยุสมัครเล่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ และมีส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้จริง ดังนั้น หลายประเทศจึงได้ส่งเสริมและพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนของประเทศได้ให้ความสนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่นมากยิ่งขึ้น การกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น จำเป็นต้องศึกษาภาพรวม และสถานะของการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยการวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นมา และสภาวะแวดล้อมภายนอกภายใน ที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น ทั้งในส่วนที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัดต่อการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น ดังนี้ 1. ความหมายของกิจการวิทยุสมัครเล่น ข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้ให้คำนิยามคำว่า กิจการวิทยุสมัครเล่น หมายถึง กิจการที่ดำเนินการโดยพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากทางรัฐหรือส่วนราชการ เพื่อติดต่อถึงกัน ฝึกฝนตนเอง ทดลอง ทดสอบทางวิชาการวิทยุคมนาคม เพื่อจุดประสงค์ในการเพิ่มพูนความรู้และวิชาการ โดยไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางด้านธุรกิจ การเงิน และการเมือง นอกจากนี้ มาตรา 25 ของข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศยังได้บัญญัติข้อบังคับเกี่ยวกับวิทยุสมัครเล่นสำหรับประเทศภาคีได้ใช้ปฏิบัติไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (1) บุคคลใดก็ตามที่ประสงค์จะได้รับใบอนุญาต เพื่อใช้เครื่องมือสื่อสารในสถานีวิทยุสมัครเล่น จะต้องแสดงความสามารถว่าตนเองสามารถส่งได้ถูกต้องด้วยมือ และรับได้ถูกต้องด้วยหู ซึ่งข้อความที่เป็นสัญญาณวิทยุโทรเลขรหัสมอร์ส อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้นั้นอาจยกเว้นให้ได้ในกรณีที่สถานีวิทยุสมัครเล่นนั้นๆ ใช้ความถี่วิทยุสูงกว่า 30 MHz (2) รัฐบาลของแต่ละประเทศจะดำเนินการเท่าที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อทดสอบความรู้ความสามารถทางวิชาการของบุคคลใด ที่ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของสถานีวิทยุสมัครเล่นก็ได้ ดังนั้น เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกิจการวิทยุสมัครเล่นจึงมุ่งเน้นให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นทุ่มเทให้ความสนใจ ศึกษา ฝึกหัด ฝึกฝน เพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน พัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยมิได้มุ่งหวังเพื่อธุรกิจผลประโยชน์ทางการเงิน หากแต่ผลสัมฤทธิ์สำคัญประการหนึ่งของกิจการวิทยุสมัครเล่นคือ การพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสาร ทั้งนี้ ความรู้ความสามารถของพนักงานวิทยุสมัครเล่นในแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องได้รับการรับรอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นสากล 2. วัตถุประสงค์ของกิจการวิทยุสมัครเล่น กิจการวิทยุสมัครเล่นมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนักคิด นักประดิษฐ์ในด้านการสื่อสาร และการใช้ประโยชน์ทางความถี่วิทยุ 2.2 ส่งเสริมและสนับสนุนในการศึกษา ทดลอง และการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัว ด้านวิชาการสื่อสารกับประชาชนและสถานศึกษา 2.3 เพิ่มพูนบุคลากรของประเทศชาติที่มีความรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติ ด้านการสื่อสารทางความถี่วิทยุอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 2.4 ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมในการรักษาและใช้ความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ 2.5 เพื่อเป็นข่ายสื่อสารสาธารณะสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ 2.6 เพื่อสร้างชื่อเสียงของประเทศให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศ ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา วงการวิทยุสมัครเล่นมักให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมเป็นกิจกรรมหลัก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กิจการวิทยุสมัครเล่นได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและยั่งยืนตามเจตนารมณ์ จึงควรให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาในเชิงวิชาการควบคู่ไปพร้อมกับการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ทั้งนี้ ในส่วนของการช่วยเหลือสังคม ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานของรัฐและข่ายวิทยุเพื่อสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล และกิจการความถี่สำหรับประชาชน (CB: Citizen Band) ที่ให้การสนับสนุนข่ายสื่อสารหลักกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติอยู่แล้ว การปลูกฝังจิตสำนึก คุณธรรม จริยธรรมในการมุ่งเน้นการปฏิบัติตนเพื่อส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากความเป็นนักวิทยุสมัครเล่นเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงควบคู่กันไป 3. คุณสมบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่น การเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ดีควรมีคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิทยุสมัครเล่นทั่วไป ในระดับสากลพนักงานวิทยุสมัครเล่นชาวอเมริกัน ชื่อ นายพอล เอ็ม. ซีกัล (PAUL M. SEGAL) สัญญาณเรียกขาน W9EEA ได้รวบรวมคุณสมบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ดีไว้ดังนี้ 3.1 พนักงานวิทยุสมัครเล่นต้องคำนึงถึงผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจใช้ความถี่ไปลดทอนความพึงพอใจของสถานีอื่น 3.2 พนักงานวิทยุสมัครเล่นต้องเป็นผู้ที่มีความจริงใจ ให้การส่งเสริมและช่วยเพื่อนพนักงานวิทยุสมัครเล่น ชมรม และสมาคมในท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้แทนของพนักงานวิทยุสมัครเล่นทั้งปวง 3.3 พนักงานวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้รักความก้าวหน้า ติดตามเทคโนโลยีอยู่เสมอ และปรับปรุงสถานีวิทยุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและพร้อมใช้งานได้ทันที 3.4 พนักงานวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดีมีความเป็นมิตร โดยยินดีส่งข้อความอย่างช้าๆ เมื่อได้รับการร้องขอ ให้คำแนะนำแก่พนักงานวิทยุสมัครเล่น และให้คำปรึกษาอย่างมีอัธยาศัย ให้ความช่วยเหลืออย่างเอื้ออารี ให้ความร่วมมือและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น 3.5 พนักงานวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้มีดุลยภาพ มีความพอดีโดยคิดอยู่เสมอว่าวิทยุสมัครเล่นเป็นงานอดิเรก จึงไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อภารกิจที่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อครอบครัว อาชีพ การศึกษา และสังคม 3.6 พนักงานวิทยุสมัครเล่นเป็นผู้มีความรักชาติ พร้อมเสมอที่จะใช้ความรู้ความสามารถและใช้สถานีวิทยุสมัครเล่นเพื่อรับใช้ประเทศชาติและสังคม จะเห็นได้ว่า กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมระดับชาติ ที่มีการกำหนดนิยาม วัตถุประสงค์ และหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานสากลเดียวกัน จากคุณสมบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ดีที่ได้มีการรวบรวมและกำหนดไว้ทั้งระดับสากลและระดับประเทศในทางกฎหมาย มีข้อกำหนดที่สำคัญสำหรับพนักงานวิทยุสมัครเล่น ได้แก่ ความเป็นผู้มีมารยาท วินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบในการติดต่อสื่อสาร ความใฝ่รู้มุ่งศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และความเป็นผู้มีความรักชาติ ช่วยเหลือสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ ซึ่งมีความจำเป็นต้องส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และปลูกฝังคุณสมบัติที่ดีแก่นักวิทยุสมัครเล่นยึดถือเป็นค่านิยมหลักในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของนักวิทยุสมัครเล่นรุ่นต่อๆ ไป 4. กิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย 4.1 ความเป็นมา กิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจในกิจการวิทยุสื่อสารทั้งที่เป็นข้าราชการ พลเรือน ทหาร และประชาชน เริ่มด้วยการที่เจ้าหน้าที่คณะทูตทหารของสหรัฐอเมริกาได้นำเครื่องวิทยุสื่อสารในย่านความถี่สมัครเล่นมาทดลองใช้ติดต่อสื่อสารกับทหารอเมริกันที่มาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในประเทศไทย และได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (Radio Amateur Society of Thailand: RAST) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2507 ภายหลังได้เข้าเป็นสมาชิกของ International Amateur Radio Union: IARU แต่มิได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเนื่องจากขณะนั้นประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่น ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะได้พยายามผลักดันและประสานงานกับกรมไปรษณีย์โทรเลข (สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สกทช. ในปัจจุบัน) เพื่อให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นขึ้นในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยในระยะแรกมีการจัดประชุมชี้แจงเพื่อให้ทางราชการได้เห็นความสำคัญของกิจการวิทยุสมัครเล่น แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะขณะนั้นประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศอยู่ สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้พยายามผลักดันเพื่อให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นขึ้นในประเทศอย่างถูกต้อง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากในขณะนั้นกรมไปรษณีย์โทรเลขยังขาดเครื่องมือตรวจสอบและบุคลากรที่จะต้องควบคุมดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่นอย่างใกล้ชิด วันที่ 5 ธันวาคม 2524 พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัคร (Voluntary Radio: VR) เพื่อให้สมาชิกชมรมวิทยุอาสาสมัครที่ผ่านการสอบและสอบประวัติจากตำรวจสันติบาล และสำนักข่าวกรองแห่งชาติแล้วเข้ามาเป็นสมาชิกได้ใช้วิทยุสื่อสาร โดยมีศูนย์ควบคุมข่าย ศูนย์สายลม ตั้งอยู่ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยให้นักวิทยุที่มีเครื่องวิทยุไม่ถูกต้องนำเครื่องวิทยุไปตรวจสอบเพื่อจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ใช้วิทยุคมนาคมอย่างถูกต้อง การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของ VR โดยใช้ความถี่ผ่านวิทยุสมัครเล่นเพียง 3 ช่อง และกำหนดสัญญาณเรียกขาน VR ตามด้วยตัวเลข 3-4 หลัก เริ่มจาก VR001 ถึง 2500 เศษ เป็นการริเริ่มช่วยเหลือสังคมในการรายงานข่าวจราจรและแจ้งข่าวอาชญากรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก ขณะเดียวกันกรมไปรษณีย์โทรเลขก็ได้พยายามแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ และได้ประสานงานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอนุญาตให้สามารถดำเนินกิจการวิทยุสมัครเล่นได้ จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบ จึงได้เสนอคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) เพื่อพิจารณากำหนดระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530 ซึ่ง กบถ. ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2530 ทำให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้มีผลให้ชมรมวิทยุอาสาสมัครของกรมไปรษณีย์โทรเลขถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 และจากระเบียบ กบถ. ฉบับนี้ บรรดากิจการที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ดำเนินอยู่ในโครงการนักวิทยุอาสาสมัคร หรือ VR ได้ถูกยกเลิก โดยให้ปรับสถานะเป็นนักวิทยุสมัครเล่น โดยให้ยกเลิกสัญญาณเรียกขาน VR แล้วออกสัญญาณเรียกขานสากลเป็น HS, E2 และออกใบอนุญาตเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นต้นมา 4.2 แนวทางสู่วงการวิทยุสมัครเล่น ในระยะต่อมากิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก มีผู้สนใจเข้าสู่วงการวิทยุสมัครเล่น เพื่อศึกษา ค้นคว้า ฝึกหัด เพิ่มพูนความรู้ในด้านการสื่อสาร ภายใต้การบริหารจัดการด้านนโยบายของกรมไปรษณีย์โทรเลข จนกระทั่งมีการเปลี่ยนสถานะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในปัจจุบัน ทำให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเจริญก้าวหน้าและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปัจจุบันมีจำนวนพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นประมาณ 179,100 คน (31 ธันวาคม 2549) ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยผ่านขั้นตอนที่รับรองความรู้ความสามารถในการเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นในวิธีต่างๆ ตามที่กำหนด เช่น การสอบ การอบรมและสอบ และการอบรมเป็นกรณีพิเศษ และเมื่อได้รับประกาศนียบัตรแล้วสามารถยื่นขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นได้ 4.3 การพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นที่ผ่านมา ถึงแม้ระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา กิจการวิทยุสมัครเล่นจะเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนหลายกลุ่ม การพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นประสบปัญหาและอุปสรรคบางประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการขององค์กรวิทยุสมัครเล่นที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ การสร้างความเข้าใจที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์เดียวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก ข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลให้การพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นหยุดชะงักเป็นระยะ และมีนโยบายที่จะส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่นอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน 4.4 นโยบายการส่งเสริมการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในบทบาทสำคัญของกิจการวิทยุสมัครเล่นในการส่งเสริมและสร้างสรรค์ความรู้และคุณภาพของเยาวชนไทย และการช่วยเหลือสังคมประเทศไทยในยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ กทช. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ ได้กำหนดแนวทางสำคัญให้กิจการวิทยุสมัครเล่นมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคง ประโยชน์สาธารณะ และการช่วยเหลือประเทศยามเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2548-2550 รวมทั้งแผนกลยุทธ์สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2549-2550 ได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคมเฉพาะกิจ อาทิ การส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่น เพื่อเป็นข่ายสื่อสารรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ 4.5 กฎหมายวิทยุคมนาคม เดิมการบริหารจัดการกิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530 เป็นหลัก ปัจจุบัน สำนักงาน กทช. ได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเดิมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเอื้อให้กิจการวิทยุสมัครเล่นได้มีการพัฒนาและเติบโตอย่างเต็มที่ ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และปรับปรุงแก้ไขระเบียบเพื่อการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นขึ้น โดยมีองค์กรวิทยุสมัครเล่น นักวิทยุสมัครเล่นผู้สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาในฐานะภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางของกิจการวิทยุสมัครเล่น ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยออกเป็นระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550 5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการวิทยุสมัครเล่น ถึงแม้ว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นจะเป็นเสมือนกิจการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่ง แต่ก็มีภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งในการกำหนดมาตรการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น จำเป็นต้องพิจารณาถึงบทบาทและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการวิทยุสมัครเล่น เพื่อสร้างการยอมรับและร่วมกันดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ในอันที่จะรองรับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการวิทยุสมัครเล่น สรุปได้ดังนี้ 5.1 องค์กรกำกับดูแล เดิมกิจการวิทยุสมัครเล่นอยู่ในความดูแลด้านการบริหารของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติ (กบถ.) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น และกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกิจการวิทยุสมัครเล่น ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนและการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น ควบคุมดูแลให้มีการดำเนินกิจการวิทยุสมัครเล่นโดยถูกต้องตามกฎข้อบังคับ และมีระเบียบวินัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้มีการโอนอำนาจหน้าที่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขให้เป็นของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น ในปัจจุบันหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่นจึงเป็นความรับผิดชอบของ กทช. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กิจการวิทยุสมัครเล่นสามารถพัฒนาและดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน กทช. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นได้มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และ 9 ซึ่งยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และมุ่งเน้นหลักทางสายกลางในการพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง 5.2 องค์กรวิทยุสมัครเล่น ได้แก่ สมาคม/ชมรมวิทยุสมัครเล่น ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองจาก สกทช. (กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและกำกับดูแลพนักงานวิทยุสมัครเล่น และบริหารสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายในจังหวัดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 75 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549) โดยองค์กรหลักระดับประเทศ คือ สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (RAST) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศ (IARU) และ สกทช. (กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม) รับรองให้ดำเนินการในฐานะตัวแทนของพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทยในการประชุมระหว่างประเทศ 5.3 พนักงานวิทยุสมัครเล่น จำแนกได้เป็น 3 ระดับ คือ 1) พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น 2) พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง และ 3) พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง ในแต่ละขั้นมีความแตกต่างกันในพื้นฐานความรู้และสิทธิในการใช้ความถี่วิทยุในการรับ-ส่งข่าวสารผ่านเครื่องวิทยุคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะเป็นเสมือนผู้ใช้บริการในกิจการวิทยุสมัครเล่นแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า วิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เป็นอาสาสมัครในการประสานงานช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น การเกิดพายุเกย์ ในปี 2532 และเกิดคลื่น สึนามิ ในปี 2547 เป็นต้น อันเป็นเจตนารมณ์หลักของกิจการวิทยุสมัครเล่นอีกด้วย ดังนั้น การจัดทำแนวทางการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น จำเป็นต้องครอบคลุม และตอบสนองการใช้งานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสมาคมวิทยุสมัครเล่นประจำจังหวัดต่างๆ อีกจำนวนมาก 5.4 ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้นำเข้าอุปกรณ์วิทยุคมนาคม ในช่วงที่มีการเจริญเติบโตของกิจการวิทยุสมัครเล่น ทำให้มีผู้ผลิตอุปกรณ์ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นสายอากาศ แหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า รวมทั้งระบบทวนสัญญาณ (Repeater) ขึ้นใช้งานจนสามารถผลิตออกจำหน่ายได้ รวมทั้งมีผู้จำหน่าย และผู้นำเข้าอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเป็นจำนวนหลายราย บางรายเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์วิทยุคมนาคมทดแทนการนำเข้า และมีการส่งออกอีกด้วย ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญนอกเหนือจากบทบาทหลักแล้ว ยังเป็นกลุ่มผู้มีบทบาทในการประสานงานระหว่างหน่วยกำกับดูแลกับพนักงานวิทยุสมัครเล่นอีกด้วย 5.5 องค์การระหว่างประเทศ กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจกรรมสากลระดับโลก โดยมีองค์การระหว่างประเทศเกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ สหภาพวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศ (International Amateur Radio Union: IARU) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจการวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก ดูแลและประสานงานกิจกรรมวิทยุสมัครเล่นของสมาชิก ตลอดจนเข้าร่วมประชุมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้ความเห็นในกิจการวิทยุสมัครเล่น องค์กรประสานงานและแหล่งข้อมูลดาวเทียมสมัครเล่น (The Radio Amateur Satellite Corporation: AMSAT) เป็นองค์กรเอกชนทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น เป็นต้น 5.6 สื่อประชาสัมพันธ์ กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจ ในการนี้มีกลุ่มประชาสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น เช่น นักข่าว นักจัดรายการ ซึ่งมีผลกระทบในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการวิทยุสมัครเล่นได้ 5.7 สถาบันการศึกษา ปัจจุบันสถาบันการศึกษาเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ได้รับการยอมรับว่า มีบทบาทในการส่งเสริมความรู้ จริยธรรมอันดีแก่เยาวชน รวมทั้งสามารถผลิตบุคลากรด้านการสื่อสารที่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ 6. บทบาทของนักวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย จากการที่ประเทศไทยได้อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน ได้มีพนักงานวิทยุสมัครเล่นเพิ่มจำนวนขึ้นโดยเฉพาะขั้นต้นเป็นอย่างมาก กิจกรรมของพนักงานวิทยุสมัครเล่นได้ช่วยสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงของประเทศทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนี้ 6.1 ด้านการเมืองการปกครอง 6.1.1 การเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบของศูนย์ประสานงานปฏิบัติการเตรียมพร้อมด้านการสื่อสาร โดยผู้แทนสมาคม/ชมรมวิทยุสมัครเล่น 6.1.2 การช่วยเหลือทางราชการในการเฝ้าฟังและรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญ เช่น ข่าวภัยพิบัติ สาธารณภัย อาชญากรรม ฯลฯ การช่วยเหลือค้นหาผู้ประสบภัยทั้งทางอากาศ และทางทะเล ตลอดจนช่วยลดปัญหาและป้องกันอาชญากรรม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทางราชการ 6.1.3 การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม บทบาทของพนักงานวิทยุสมัครเล่นซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ สามารถใช้วิทยุรับส่งรายงานข่าวสารเพื่อรายงานความเสียหายหรือความผิดปกติของสาธารณูปโภค รายงานสภาพจราจร การแจ้งข่าวอาชญากรรม เช่น โครงการสายตรวจร่วมตำรวจ 191 และวี อาร์ การรายงานข่าวจราจร การเป็นสมาชิกแจ้งข่าวอาชญากรรมของตำรวจ เป็นต้น 6.2 ด้านเศรษฐกิจ 6.2.1 ส่งเสริมธุรกิจการค้าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์สื่อสารอย่างกว้างขวาง เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแง่ของการให้บริการและการค้าขาย 6.3 ด้านสังคม และการศึกษา 6.3.1 ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองของพนักงานวิทยุสมัครเล่น โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจได้จากการทดลองด้วยตนเอง หรือการเข้าร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ 6.3.2 การติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึง มีส่วนช่วยเผยแพร่ข่าวสารความรู้ พัฒนาการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข ความมั่นคง และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ให้แก่สังคมท้องถิ่น เช่น การพัฒนาบุคลากรด้านการสื่อสารเพื่อเป็นกำลังสำรองช่วยเหลือสังคมในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน การใช้วิทยุสื่อสารช่วยติดต่อประสานงานให้หน่วยแพทย์ การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคม เช่น รายงานข่าวผลงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ การแข่งขันกีฬา ผลการเลือกตั้ง การร่วมประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ในส่วนของมนุษยชาติ ก่อให้เกิดการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม การสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสื่อสาร 6.3.3 นักวิทยุสมัครเล่นมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนในโอกาสต่างๆ เช่น กิจกรรมลูกเสือคุยกับนักบินอวกาศผ่านวิทยุสมัครเล่น กิจกรรมในงานลูกเสือทางอากาศซึ่งจัดในโรงเรียนต่างๆ งานชุมนุมลูกเสือโลก งานชุมนุมลูกเสือแปซิฟิก งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ 6.4 ด้านเทคโนโลยี เนื่องจากพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างและพัฒนาอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร สิ่งที่พนักงานวิทยุสมัครเล่นไทยสามารถพัฒนาได้ มีเพียงสายอากาศเท่านั้นที่เห็นผลชัดเจน 6.4.1 การทดสอบทดลองด้านสายอากาศของพนักงานวิทยุสมัครเล่นนำไปสู่การผลิตทดแทนการนำเข้าสายอากาศของราชการในอดีต 6.4.2 การทดสอบทางไกลของนักวิทยุสมัครเล่น และการทดสอบภาคสนาม เป็นการเตรียมความพร้อมสถานีวิทยุสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ การวางจุดที่ตั้งสถานีที่เหมาะสม 6.4.3 นักวิทยุสมัครเล่นได้ทดลองและเผยแพร่โหมดการสื่อสารใหม่ เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียม การสื่อสารข้อมูลแบบ Package Radio และอื่นๆ 6.4.4 การทดลองสื่อสารแบบสะท้อนคลื่นพื้นผิวดวงจันทร์ ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเครื่องรับและเครื่องส่งที่มีประสิทธิภาพ 7. ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย สรุปได้ดังนี้ 7.1 ด้านองค์กรวิทยุสมัครเล่น ตลอดเวลาที่ผ่านมา กิจการวิทยุสมัครเล่นมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชมรม และสมาคม ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ แต่มีข้อจำกัดในการบริหารงาน ดังนี้ 7.1.1 ขาดระบบโครงสร้างในระดับประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ไม่มีองค์กรใดสามารถทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของประเทศได้อย่างแท้จริง ไม่มีผู้ประสานงานหลักของเครือข่าย แม้จะมีองค์กรเป็นจำนวนมาก แต่อยู่รวมกันแบบกระจัดกระจาย ไม่มีการกระจายอำนาจที่เป็นระบบ 7.1.2 องค์กรขาดการมีส่วนร่วมของนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มย่อยในพื้นที่ ทำให้คณะกรรมการขององค์กร ไม่ได้เป็นตัวแทนของนักวิทยุสมัครเล่นที่แท้จริง และไม่สามารถจูงใจพนักงานวิทยุสมัครเล่นให้เข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างถาวรและยั่งยืน 7.1.3 มีความรู้ความเข้าใจไม่ตรงกัน พื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่นต่างกัน แต่ละองค์กรต่างมีการบริหารที่แยกตัวเป็นเอกเทศ มีแนวทางการบริหารพัฒนาที่แตกต่างการพัฒนา การเจริญเติบโต ความสงบเรียบร้อยของกิจการวิทยุสมัครเล่นในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้นำองค์กร และกรรมการไม่มีกรอบโครงการบริหารหลัก 7.1.4 มีการวางบทบาทหน้าที่ขององค์กรในลักษณะการจับผิด กำหนดหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจรองรับ และให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางกายภาพมากกว่าคุณภาพ 7.1.5 องค์กรไม่สามารถเป็นแกนนำในการรวบรวมหรือกระจายความรู้ และข้อมูลข่าวสารทั้งจากระดับสากลและจากส่วนกลางไปถึงพนักงานวิทยุสมัครเล่นทั่วไปในแต่ละพื้นที่ได้ 7.1.6 องค์กรไม่มีรายได้ หรือแหล่งทุนที่ทำให้สามารถทำกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง หรืออย่างยั่งยืน 7.1.7 องค์กรถูกบังคับจากภาครัฐให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยไม่มีรายได้เพียงพอ เช่น การกำหนดให้ต้องจัดตั้งและดำเนินการสถานีควบคุมข่าย หรือการกำหนดให้องค์กรต้องจัดทำจดหมายรับรองผู้ขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นโดยไม่อนุญาตให้เก็บค่าใช้จ่าย และไม่ให้เลือกรับรองเฉพาะสมาชิก 7.1.8 องค์กรถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ในลักษณะคอยจับผิด ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างองค์กรกับพนักงานวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ 7.2 ด้านพนักงานวิทยุสมัครเล่น 7.2.1 พนักงานวิทยุสมัครเล่นจำนวนมาก มีความรู้ความเข้าใจต่อกิจการวิทยุสมัครเล่นโดยรวมไม่ตรงกัน ทั้งด้านวัตถุประสงค์ และวิธีปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐมีนโยบายการเพิ่มจำนวนโดยการลดมาตรฐาน 7.2.2 พนักงานวิทยุสมัครเล่นไม่ทราบชัดเจนถึงหน้าที่ที่จะต้องกระทำ และสิทธิ ทั้งของตนหรือผู้อื่น ทำให้มีการละเมิดสิทธิ และละเลยหน้าที่ หรือปฏิบัติเกินอำนาจหน้าที่ เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งและแตกแยก รวมทั้งเป็นอันตรายต่อตนเอง และต่อความมั่นคงของชาติ 7.2.3 พนักงานวิทยุสมัครเล่นมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม และจัดกิจกรรมกันเองตามความสนใจ ซึ่งมีความอบอุ่นและเป็นกันเองมากกว่า 7.2.4 พนักงานวิทยุสมัครเล่นไม่ได้รับการกระตุ้น หรือส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เท่าที่ควร 7.2.5 พนักงานวิทยุสมัครเล่นส่วนหนี่ง เข้าใจการอบรมเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น เพียงเพราะต้องการใบอนุญาตเพื่อนำเครื่องวิทยุสื่อสารไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์อื่น |
| ||||||||||||||||||||||
|